24 กุมภาพันธ์ 2011
ที่มา: สมาคมจุลชีววิทยาอเมริกัน
สรุป: นักวิจัยได้ระบุสายพันธุ์ของแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ที่อาจเป็นประโยชน์ในการรักษาแผลที่เกิดจากเชื้อ Helicobacter pylori
นักวิจัยจากสเปนได้ระบุสายพันธุ์ของแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ที่อาจมีประโยชน์ในการรักษาแผลที่เกิดจากเชื้อ Helicobacter pylori และได้รายงานผลการวิจัยเอาไว้ในวารสาร Applied and Environmental Microbiology ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2011
นักวิจัยระบุว่า “H. pyroli ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะและแผลในกระเพาะอาหารและเยื่อบุลำไส้เล็ก” “ปัจจุบัน การรักษาการติดเชื้อ H. pyroli ด้วยยาปฏิชีวนะนั้น ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอและให้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจ โดยการรักษาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด มีอัตราการกำจัดเชื้อ 75 ถึง 90% เท่านั้น และการใช้โพรไบโอติกส์เป็นเครื่องมือที่มีแนวโน้มที่ดที่จะป้องกันเชื้อ H. pyroli”
ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่จัดทำโดยองค์การอาหารและการเกษตร และองค์การอนามัยโลกได้นิยามว่า โพรไบโอติกส์ คือ “จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เพียงพอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพแก่โฮสต์” และมีการพิสูจน์แล้วว่าการบริโภคจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์เป็นประจำสามารถป้องกันความผิดปกติหลายอย่าง ซึ่งรวมถึง โรคท้องร่วงและโรคลำไส้อักเสบ
ในบรรดาโพรไบโอติกส์ บิไฟโดแบคทีเรีย (Bifidobacterium) เป็นหนึ่งในสกุลที่มีการศึกษากันมากในงานวิจัยที่มุ่งเน้นศึกษาการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและมักใช้ในผลิตภัณฑ์นมหมักหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยมีการศึกษาบางชิ้นที่ทำการศึกษาในสภาวะทดลอง (ในหลอดทดลองหรือจานเพาะเชื้อ) และพบว่าบิฟิโดแบคทีเรียมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ H. pylori
ในการศึกษานี้ นักวิจัยได้ทำการทดสอบบิฟิโดแบคทีเรียหลายสายพันธุ์ที่แยกได้จากอุจจาระของทารกที่กินนมแม่ เพื่อศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ H. pylori และพบว่าบิฟิโดแบคทีเรียสายพันธุ์หนึ่ง (Bifidobacterium bifidum CECT 7366) มีฤทธิ์ยับยั้งในสภาวะทดลองสูงเกือบ 95% และหลังจากนั้นผู้วิจัยได้ทำการทดสอบความสามารถของเชื้อชนิดนี้ในการยับยั้งการติดเชื้อในหนู
หลังจากผ่านไป 21 วัน หนูที่ได้รับการบำบัดด้วยโพรไบโอติกส์มีแผลน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมและจากการทดสอบเพิ่มเติมชี้ให้เห็นว่าการบำบัดด้วยโพรไบโอติกส์สายพันธุ์นี้สามารถบรรเทาความเสียหายของเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อ H. pylori ได้บางส่วน และพบว่าการได้รับแบคทีเรียสายพันธุ์นี้ไม่ได้ก่อให้เกิดโรคหรือการเสียชีวิต ทั้งในหนูที่มีสุขภาพดีและหนูที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
นักวิจัยกล่าวว่า “ผลการวิจัยที่นำเสนอนี้แสดงให้เห็นว่า B. bifidum CECT 7366 เป็นแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ H. pylori” และ “จำเป็นต้องทำการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ก่อนการอนุมัติให้ใช้โพรไบโอติกส์สายพันธุ์นี้ในเชิงพาณิชย์”
ที่มา
ข้อมูลโดย สมาคมจุลชีววิทยาอเมริกัน
หมายเหตุ: อาจมีการแก้ไขรูปแบบและความยาวของเนื้อหา
https://www.sciencedaily.com/releases/2011/02/110224121905.htm
เอกสารอ้างอิง:
- E. Chenoll, B. Casinos, E. Bataller, P. Astals, J. Echevarria, J. R. Iglesias, P. Balbarie, D. Ramon, S. Genoves. Novel Probiotic Bifidobacterium bifidum CECT 7366 Strain Active against the Pathogenic Bacterium Helicobacter pylori. Applied and Environmental Microbiology, 2010; 77 (4): 1335 DOI: 10.1128/AEM.01820-10