อัพเดท: 13 เมษายน พ.ศ. 2563
โดย Harvard Health (บทความสุขภาพจากแพทย์ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา)
การรับประทานโพรไบโอติกส์มีประโยชน์อย่างไร?
เป็นที่ทราบกันดีว่าแบคทีเรียสามารถก่อให้เกิดโรคได้ ดังนั้นความคิดในการรับประทานโพรไบโอติกส์สักสองสามพันล้านตัวต่อวันเพื่อสุขภาพของคุณจึงเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อ แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้นที่แสดงให้เห็นว่าคุณสามารถรักษาและป้องกันความเจ็บป่วยบางประการได้ด้วยอาหารและอาหารเสริมที่มีแบคทีเรียที่มีชีวิตบางชนิด โดยชาวยุโรปเหนือบริโภคจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหล่านี้จำนวนมาก ซึ่งเรียกว่าโพรไบโอติกส์ (มาจากคำว่า pro และ biota ซึ่งแปลว่า “เพื่อชีวิต”) เนื่องจากมีประเพณีในการรับประทานอาหารที่หมักด้วยแบคทีเรีย เช่น โยเกิร์ต และมีธุรกิจเครื่องดื่มผสมโพรไบโอติกส์ขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารบางคนแนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ สำหรับการบำบัดความผิดปกติที่ยากที่จะรักษาโดยใช้ยาโดยทั่วไป เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โดยตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 ผลการศึกษาทางคลินิกชี้ให้เห็นว่า การบำบัดด้วยโพรไบโอติกส์สามารถช่วยรักษาอาการป่วยในระบบทางเดินอาหาร ชะลอการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็ก และรักษาและป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะในสตรี
การรับประทานแบคทีเรียด้วยตนเองไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอย่างที่คิด เนื่องจากในลำไส้ที่ปกติและแข็งแรงจะมีจุลินทรีย์ตามธรรมชาติประมาณ 100 ล้านล้านตัวจากมากกว่า 500 สปีชีส์ จุลินทรีย์เหล่านี้ (หรือที่เรียกว่าไมโครฟลอร่า) มักไม่ทำให้เราป่วย และโดยส่วนใหญ่เป็นประโยชน์ โดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ จะคอยตรวจสอบเชื้อโรค (จุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย) ช่วยในการย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร และมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
ประโยชน์ของการรับประทานโพรไบโอติกส์
โพรไบโอติกส์แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน แบคทีเรียแต่ละสายพันธุ์จะมีฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น แบคทีเรียสายพันธุ์หนึ่งอาจต่อสู้กับจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดฟันผุ แต่แบคทีเรียสายพันธุ์ดังกล่าวอาจไม่สามารถรอดชีวิตได้เมื่อเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ของเรา
และจากการศึกษาวิจัยพบว่าแบคทีเรียที่เป็นมิตรเหล่านี้ (โพรไบโอติกส์) มีประโยชน์ในการรักษาหรือการป้องกัน
- โรคท้องร่วง
- โรคลำไส้แปรปรวน
- โรคลำไส้อักเสบ
- โรคโครห์น
- เชื้อH. pylori ที่เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- โรคติดเชื้อในช่องคลอด
- โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- การกลับเป็นซ้ำของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากเชื้อClostridium difficile
- โรคกระเปาะลำไส้อักเสบ (ผลข้างเคียงที่เป็นไปได้ของการผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออก)
- โรคผิวหนังอักเสบในเด็ก
แพทย์ของฮาร์วาร์ดเปิดเผยต่อว่าแบคทีเรียที่ดีมีศักยภาพต่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาพของคุณเพียงใด
โพรไบโอติกส์และสุขภาพของลำไส้
ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการบำบัดด้วยโพรไบโอติกส์ก็คือการรักษาอาการท้องร่วง ซึ่งจากผลจากการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมแสดงให้เห็นว่า Lactobacillus GG สามารถลดระยะเวลาของอาการท้องร่วงจากการติดเชื้อในทารกและเด็กได้ (แต่ไม่พบว่าสามารถลดระยะเวลาของการเกิดอาการในผู้ใหญ่) แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่จำกัด และข้อมูลที่ได้นั้นไม่สอดคล้องกัน แต่การทบทวนวรรณกรรมสองชิ้นชี้ให้เห็นว่าโพรไบโอติกส์สามารถลดอาการท้องร่วงที่เกี่ยวข้องกับยาปฏิชีวนะได้ 60% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก
แต่ปัญหาที่พบได้มากกว่าอาการท้องร่วงก็คือ อาการท้องผูก ซึ่งเป็นอาการที่ตรงกันข้าม จากการค้นหาการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ในการรักษาอาการท้องผูก นักวิจัยพบว่าโพรไบโอติกส์ช่วยชะลอ “ระยะเวลาที่อาหารผ่านลำไส้” ได้ 12.4 ชั่วโมง เพิ่มการขับถ่ายอุจจาระได้ 1.3 ครั้งต่อสัปดาห์ และช่วยให้อุจจาระนิ่มลงทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น แต่นักวิจัยบางท่านยังไม่มีความเห็นพ้องในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ที่มีต่ออาการท้องผูกโดยเฉพาะ
การบำบัดด้วยโพรไบโอติกส์อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการของผู้ที่เป็นโรคโครห์นและโรคลำไส้แปรปรวน แม้ว่าผลการทดลองทางคลินิกจะไม่สอดคล้องกัน แต่ผลของการศึกษาขนาดเล็กหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าโพรไบโอติกส์บางชนิดอาจทำให้โรคลำไส้อักเสบสงบลง และป้องกันการกำเริบของโรคโครห์นและการกลับเป็นซ้ำของโรคกระเปาะลำไส้อักเสบ (ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคลำไส้อักเสบ) เนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นโรคที่รักษาได้ยาก ผู้คนจำนวนมากจึงทดลองใช้โพรไบโอติกส์ก่อนที่จะมีหลักฐานว่าสายพันธุ์ใดเหมาะสมสำหรับการรักษาอาการดังกล่าว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาว่าสายพันธุ์ใดเหมาะสมที่สุดสำหรับโรคใด
โพรไบโอติกส์และสุขภาพของช่องคลอด
โพรไบโอติกส์อาจเป็นประโยชน์ในการรักษาสุขภาพของอวัยวะเพศ เช่นเดียวกับลำไส้ ช่องคลอดเป็นระบบนิเวศที่มีความสมดุลที่ดีเยี่ยม และจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส(Lactobacillus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่มาก ในบริเวณนี้มักทำให้ช่องคลอดมีความเป็นกรดเกินกว่าที่จุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายจะอยู่รอดได้ แต่ระบบนิเวศนี้ อาจเสียสมดุลได้เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้ออสุจิ และยาคุมกำเนิด ดังนั้นการบำบัดด้วยโพรไบโอติกส์ซึ่งจะช่วยคืนความสมดุลของจุลินทรีย์จึงอาจเป็นประโยชน์สำหรับปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะเพศของผู้หญิงที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อยีสต์ และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
ผู้หญิงจำนวนมากรับประทานหรือสอดโยเกิร์ตเข้าไปในช่องคลอดเพื่อรักษาการติดเชื้อยีสต์ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบ “พื้นบ้าน” และยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์จำนวนน้อยที่สนับสนุนวิธีการนี้ และการรับประทานจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสและการใช้ทางช่องคลอดอาจช่วยในการรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้วิธีการทั่วไป (ภาวะช่องคลอดอักเสบ เป็นภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และโรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ) และในปัจจุบันกำลังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะด้วยโพรไบโอติกส์
โพรไบโอติกส์เป็นสารที่ได้รับการยอมรับว่าปลอดภัย และมีอยู่ในระบบย่อยอาหารตามธรรมชาติแม้ว่าในทางทฤษฎีจะมีความเสี่ยงสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการระบุส่วนผสมเอาไว้บนอย่างชัดเจน และตรวจเช็คผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากไม่มีวิธีใดที่จะตัดสินความปลอดภัยของสารผสมที่ไม่สามารถระบุได้
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์
ในสหรัฐอเมริกา โพรไบโอติกส์ส่วนใหญ่วางจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้ผลิตจึงต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผลิตภัณฑ์ของตนปลอดภัยก่อนที่จะวางตลาด และคำกล่าวอ้างใดๆ บนฉลากนั้นเป็นความจริง แต่ก็ไม่อาจรับประกันว่าประเภทของแบคทีเรียที่ระบุไว้บนฉลากนั้นจะมีประสิทธิภาพในขณะที่คุณรับประทาน เนื่องจากประโยชน์ต่อสุขภาพของโพรไบโอติกส์มีความจำเพาะเจาะจงต่อสายพันธุ์ และไม่ใช่ว่าทุกสายพันธุ์ จะมีประโยชน์ ดังนั้นคุณอาจต้องปรึกษาแพทย์ที่คุ้นเคยกับโพรไบโอติกส์ เพื่อหารือเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่คุณเลือกใช้ และเช่นเคย โปรดแจ้งให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพของคุณทราบว่าคุณกำลังใช้ผลิตภัณฑ์ใด
ที่มา https://www.health.harvard.edu/vitamins-and-supplements/health-benefits-of-taking-probiotics