โพรไบโอติกส์เป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
โรคลำไส้แปรปรวน หรือ IBS เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องและทำให้พฤติกรรมการขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนไป
และผู้คนจำนวนมากใช้โพรไบโอติกส์โดยหวังว่าการปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้จะทำให้อาการป่วยของตนดีขึ้น
ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงงานวิจัยล่าสุดที่ศึกษาการใช้โพรไบโอติกส์ในการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน รวมถึงสายพันธุ์ของโพรไบโอติกส์และอาการของโรค
โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) คืออะไร?
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องหรือความรู้สึกไม่สบายตัว รวมถึงอาการท้องอืด แก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องผูก และท้องร่วง
โรคนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คน 7–21% ทั่วโลก และพบในผู้หญิงชาวตะวันตกได้มากกว่าในผู้ชายถึง 3 เท่า แม้ว่าความแตกต่างระหว่างเพศในประชากรชาวเอเชียจะไม่มากนัก
เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคลำไส้แปรปรวนแต่อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เป็นไปได้ของโรคนี้ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ การติดเชื้อ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองกับลำไส้ ภาวะแบคทีเรียเจริญเติบโตมากผิดปกติ การแพ้อาหาร ความผิดปกติในการดูดซึมคาร์โบไฮเดรต และการอักเสบของลำไส้
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารบางชนิดอาจกระตุ้นอาการของโรคนี้ และความเครียดอาจทำให้อาการยิ่งแย่ลง
หากคุณมีอาการปวดท้องอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์เป็นเวลาสามเดือน รวมทั้งมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อยสองอาการ: อาการปวดที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายอุจจาระ ความถี่ของการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป หรือลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป คุณจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวน(6)
โรค IBS สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทย่อย ตามประเภทของการขับถ่ายอุจจาระที่พบบ่อยที่สุด :
- IBS-D: มีอาการท้องร่วงเป็นอาการหลัก
- IBS-C: มีอาการท้องผูกเป็นอาการหลัก
- IBS-M: มีอาการท้องร่วงสลับกับอาการท้องผูก
- IBS-U: ไม่ระบุ สำหรับผู้ที่มีอาการไม่ตรงกับประเภทใดประเภทหนึ่งข้างต้น
นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้จำแนกผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนภายหลังจากการติดเชื้อให้อยู่ในประเภท “โรคลำไส้แปรปรวนหลังการติดเชื้อ” ซึ่งอาจมีผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนประเภทนี้อยู่ถึง 25%
วิธีการรักษาโรคลำไส้แปรปรวนประเภทต่างๆเหล่านี้มีหลายวิธีตั้งแต่ การใช้ยา การปรับเปลี่ยนอาหารและวิถีชีวิต การงดบริโภค FODMAPs และนมวัวที่มีแลคโตส และการใช้โพรไบโอติกส์
FODMAPs คือ โมเลกุลคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยได้ยาก สามารถพบได้ตามธรรมชาติในอาหารหลายชนิด และอาจทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น แก๊สในกระเพาะอาหารและท้องอืด ซึ่งอาจทำให้อาการของ โรคลำไส้อักเสบรุนแรงขึ้น
สรุป
โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องและทำให้การขับถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจสาเหตุของโรคนี้ แต่โรคนี้อาจเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองกับลำไส้ ภาวะแบคทีเรียเจริญเติบโตมากผิดปกติ การติดเชื้อ การอักเสบ และอาการแพ้
โพรไบโอติกส์คืออะไร?
ระบบย่อยอาหารของคุณเต็มไปด้วยแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ซึ่งเรียกว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ และจุลินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของคุณ
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลหลายประการ บางครั้งจุลินทรีย์ในลำไส้ก็ไม่อยู่ในภาวะสมดุล ทำให้แบคทีเรียที่เป็นอันตรายสามารถเพิ่มจำนวนได้
โพรไบโอติกส์เป็นแบคทีเรียหรือยีสต์ที่มีชีวิต ที่สามารถพบได้ในอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์เหล่านี้จัดว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ปลอดภัย เช่นเดียวกับจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในลำไส้ตามธรรมชาติและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
ผู้คนจำนวนมากใช้โพรไบโอติกส์เพื่อปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้เพื่อสุขภาพที่ดี เนื่องจากโพรไบโอติกส์มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ช่วยในการลดน้ำหนัก ปรับปรุงสุขภาพของหัวใจปรับปรุงการย่อยอาหาร และส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
อาหารที่โพรไบโอติกส์ ได้แก่ โยเกิร์ต กะหล่ำปลีเปรี้ยว เทมเป้ กิมจิ และอาหารหมักชนิดอื่น ๆ
นอกจากนี้ สายพันธุ์โพรไบโอติกส์ที่พบได้โดยทั่วไปในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacterium)
สรุป
โพรไบโอติกส์เป็นแบคทีเรียและยีสต์ที่มีชีวิต ที่เราสามารถบริโภคเพื่อสนับสนุนและช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียที่มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติ โพรไบโอติกส์สามารถพบได้ในโยเกิร์ต อาหารหมัก และอาหารเสริม
โพรไบโอติกส์รักษาโรคลำไส้แปรปรวนได้อย่างไร?
มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาว่าจะสามารถใช้โพรไบโอติกส์ในการรักษาและจัดการกับโรคลำไส้แปรปรวนได้อย่างไร
อาการของโรคลำไส้แปรปรวนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ ตัวอย่างเช่น ลำไส้ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีแลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรียอยู่มาก และมี สเตรปโทคอกคัส (Streptococcu) อีโคไล(E. coli) และคลอสทริเดียม (Clostridium) ที่เป็นอันตรายในปริมารที่สูง
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนมากถึง 84% มีภาวะแบคทีเรียภายในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่างๆได้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสาเหตุหรือผลของโรคลำไส้แปรปรวน นอกจากนี้ ยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาอาการของโรคลำไส้แปรปรวนอาจทำลายแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพที่อาศัยอยู่ในลำไส้
การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้อาจส่งผลต่ออาการของโรคลำไส้แปรปรวนโดยจะเพิ่มการอักเสบ ความไวต่อแก๊สในลำไส้ ลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้การเคลื่อนไหวของระบบย่อยอาหารเปลี่ยนไป
และมีการกล่าวว่าโพรไบโอติกส์สามารถปรับปรุงอาการของโรคได้โดย :
- การยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค
- การส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ช่วยต่อต้านการอักเสบ
- ชะลอการขับถ่ายอุจจาระ
- ลดการเกิดแก๊สโดยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้
- ลดความไวต่อการสะสมของแก๊สในลำไส้
อย่างไรก็ตาม โพรไบโอติกส์แต่ละชนิดไม่เหมือนกันในความเป็นจริงแล้ว คำว่า “โพรไบโอติกส์” ครอบคลุมและประเภทของแบคทีเรียและยีสต์หลากหลายสายพันธุ์และหลากหลายประเภท ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพของจุลินทรีย์เหล่านี้จะแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับประเภท
สรุป
ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้อาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคลำไส้แปรปรวน โพรไบโอติกส์สามารถคืนความสมดุลของจุลินทรีย์ได้หลายวิธี ได้แก่ การยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายการลดการอักเสบ และการชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหาร
โพรไบโอติกส์สามารถปรับปรุงอาการของโรคลำไส้แปรปรวนได้หรือไม่?
การศึกษาจำนวนหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่าโพรไบโอติกส์บางชนิดอาจมีศักยภาพในการบำบัดอาการบางอาการ และพบว่าโพรไบโอติกส์ในวงศ์บิฟิโดแบคทีเรีย แลคโตบาซิลลัส และแซคคาโรไมซีส (Saccharomyces) มีแนวโน้มที่ดีในการรักษาลำไส้แปรปรวน
การรักษาอาการโดยรวม
ในการทบทวนวรรณกรรมโดยสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งอังกฤษ (BDA) ได้ทบทวนการศึกษา 29 ฉบับที่ทำการประเมินการปรับปรุงอาการโดยรวม และพบว่าในจำนวนนี้ มีการศึกษา 14 ฉบับที่แสดงให้เห็นว่า โพรไบโอติกส์ 10 ชนิด ให้ผลลัพธ์ในทางบวก
ตัวอย่างเช่น การศึกษาหนึ่งได้รักษาผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน จำนวน 214 ราย โดยใช้เชื้อ L. plantarum 299v และพบว่าหลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ ผู้ป่วย 78% ให้คะแนนว่าโพรไบโอติกส์มีประสิทธิภาพดีหรือดีเยี่ยมในการปรับปรุงอาการของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดและท้องอืด
ข้อค้นพบเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากการศึกษาหนึ่งในโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาขนาดเล็ก อีก 2 ฉบับ ที่ทำการศึกษาโพรไบโอติกส์สายพันธุ์เดียวกันไม่พบผลในเชิงบวก
การศึกษาของเยอรมันที่ทำการศึกษาผลิตภัณฑ์ของเหลว Pro-Symbioflor ที่มีโพรไบโอติกส์สองสายพันธุ์ก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจเช่นกัน โดยในการศึกษานี้ผู้ป่วยจำนวน 297 รายได้รับการบำบัดเป็นเวลา 8 สัปดาห์ และพบว่าอาการทั่วไปลดลง 50% ซึ่งรวมถึงอาการปวดท้อง
ในขณะเดียวกัน ได้มีการทดสอบ Symprove ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีโพรไบโอติก 4 สายพันธุ์ ในผู้ป่วยในสหราชอาณาจักร จำนวน 186 ราย และพบว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถลดความรุนแรงของอาการโดยรวมได้หลังการบำบัดเป็นเวลา 12 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าBifidobacterium infantis 35624 ชนิดแคปซูลสามารถลดอาการปวด ท้องอืด และปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ในโรคลำไส้แปรปรวนทุกประเภทได้เช่นกัน
แม้ว่าผลลัพธ์เหล่านี้บางส่วนจะมีแนวโน้มดี แต่ก็มีความไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษา นอกจากนี้ ในสายพันธุ์ส่วนใหญ่ มักมีเพียงการศึกษาเดียวที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของสายพันธุ์ดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์เหล่านี้
สรุป
ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่ามีโพรไบโอติกส์ 10
สายพันธุ์ที่อาจช่วยให้อาการโดยรวมของโรคลำไส้แปรปรวนดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยที่ได้นั้นยังไม่สอดคล้องกัน
และแต่ละสายพันธุ์ยังได้รับการศึกษาไว้ในงานวิจัยเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
อาการปวดท้อง
อาการปวดท้องเป็นหนึ่งในอาการสำคัญของโรคลำไส้แปรปรวน โดยมักพบว่ามีอาการปวดที่ช่องท้องส่วนล่างหรือช่องท้องทั้งหมด และอาการปวดจะลดลงหลังจากการขับถ่ายอุจจาระ
และมีการรายงานว่ามีโพรไบโอติกส์ 7 ชนิด ที่สามารถปรับปรุงอาการปวดท้องได้
โดยพบว่าสายพันธุ์ L. plantarum สามารถลดทั้งความถี่และความรุนแรงของอาการปวดท้อง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก
การศึกษาชิ้นหนึ่งได้ศึกษายีสต์ S. cerevisiae หรือที่เรียกว่า Lesaffre และพบว่าหลังจากการบำบัดเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผู้ป่วย 63% ในกลุ่มทดสอบ และ 47% ในกลุ่มยาหลอก รายงานว่าอาการปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในอีกการศึกษาหนึ่ง ผู้เข้าร่วมการวิจัยได้ดื่มสารละลายโพรไบโอติกส์ ซึ่งประกอบด้วย B. bifidum, B. lactis, L. acidophilus และ L. casei เป็นเวลา 8 สัปดาห์ และพบว่าอาการปวดลดลง 64% ในกลุ่มที่ดื่มสารละลายโพรไบโอติกและ 38% ในกลุ่มยาหลอก
แม้ว่างานวิจัยนี้จะให้ผลลัพธ์ในทางบวก แต่การศึกษาโดยส่วนใหญ่ไม่พบว่าโพรไบโอติกส์มีประโยชน์ต่ออาการปวด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อค้นพบของสายพันธุ์เหล่านี้
นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะศึกษาว่าปรากฏการณ์ยาหลอกมีผลกระทบมากเพียงใดในการศึกษาเหล่านี้ ปรากฏการณ์ยาหลอกคือเมื่อบุคคลได้รับผลในทางบวกในระหว่างการศึกษาแม้ว่าจะได้รับเพียงยาหลอกก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้โดยทั่วไปในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคลำไส้แปรปรวน
สรุป
อาการปวดท้องเป็นอาการหลักของโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งมีการรายงานว่ามีโพรไบโอติกส์ 7 สายพันธุ์ ที่สามารถช่วยลดอาการปวดได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลที่ได้นี้
อาการท้องอืดและแก๊สในกระเพาะอาหาร
การผลิตแก๊สส่วนเกินและความไวต่อการสะสมแก๊สที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดและแก๊ส ในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน
ในการทบทวนวรรณกรรมโดย BDA ในปี พ.ศ. 2559 มีงานวิจัยเพียง 2 ฉบับ ที่พบว่าโพรไบโอติกส์ ช่วยลดอาการท้องอืดได้อย่างเฉพาะเจาะจง และมีงานวิจัยเพียงฉบับเดียวที่พบว่าโพรไบโอติกส์สามารถลดการเกิดแก๊สได้
และมีการรายงานว่าสายพันธุ์ L. plantarum สามารถลดทั้งความถี่และความรุนแรงของอาการท้องอืด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก
การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งได้บำบัดผู้ป่วยโดยใช้เครื่องดื่มโรสฮิปผสมกับซุปข้าวโอ๊ตที่หมักด้วยเชื้อ L. plantarum และพบว่ากลุ่มทดสอบเกิดแก๊สลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทั้งกลุ่มทดสอบและกลุ่มยาหลอกมีอาการปวดท้องลดลง
อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมีอาการท้องอืดลดลงหลังจากได้รับการบำบัดด้วยอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติกส์ 4 สายพันธุ์ คือ B. lactis, L. acidophilus, L. bulgaricus และ S. thermophilus เป็นเวลา 4 สัปดาห์
หากอาการมีแก๊สส่วนเกินและท้องอืดเป็นปัญหาหลักของคุณในโรคลำไส้แปรปรวน หนึ่งในโพรไบโอติกส์สายพันธุ์เหล่านี้อาจทำให้อาการของคุณดีขึ้นได้ แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
สรุป
จุลินทรีย์สายพันธุ์ L. plantarum สามารถลดได้ทั้งอาการท้องอืดและแก๊ส และพบว่าผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารที่มีโพรไบโอติกส์หลายสายพันธุ์ผสมกันสามารถลดแก๊สได้ โดยรวมแล้วมีงานวิจัยเพียงไม่กี่ฉบับที่แสดงให้เห็นว่าโพรไบโอติกส์สามารถปรับปรุงอาการท้องอืดและแก๊สในกระเพาะอาหาร
อาการท้องร่วง
ประมาณ 15% ของผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนจะมีอาการท้องร่วง (24)
แม้ว่าจะมีการศึกษาการใช้โพรไบโอติกส์ในโรคอุจจาระร่วงที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ แต่เรายังมีข้อมูลไม่มากนักเกี่ยวกับผลกระทบของโพรไบโอติกส์ที่มีต่ออาการท้องร่วงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ เช่นเดียวกับในโรคลำไส้แปรปรวน
โดยมีการรายงานว่าโพรไบโอติกส์ชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า Bacillus coagulans สามารถบรรเทาอาการต่างๆของโรค รวมถึงอาการท้องร่วงและความถี่ในการถ่ายอุจจาระ
นอกจากนี้ได้มีการศึกษาการใช้ยีสต์ Saccharomyces boulardii ในการรักษาโรคลำไส้แปรปรวนที่มีอาการท้องร่วงเป็นอาการหลัก อย่างไรก็ตามแม้ว่างานวิจัยฉบับหนึ่งจะพบว่าพฤติกรรมของลำไส้ดีขึ้นและเกิดการอักเสบลดลง แต่อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ได้มีการทดสอบผลิตภัณฑ์ซึ่งมีโพรไบโอติกส์หลายสายพันธุ์ ในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน และพบว่าผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ชนิดนี้ช่วยชะลอการถ่ายอุจจาระและลดการเกิดแก๊สได้ อย่างไรก็ตามในการศึกษาหนึ่งที่ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนที่มีอาการท้องร่วงเป็นอาการหลักไม่พบว่าผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ชนิดนี้ช่วยการถ่ายอุจจาระ
จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีโพรไบโอติกส์หลายสายพันธุ์ ที่ ในผู้ป่วย 50 ราย ในช่วงเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถปรับปรุงความอ่อนแข็งของอุจจาระได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก และอาการโดยทั่วไปดีขึ้น
สรุป
แม้ว่าจะมีการรายงานเกี่ยวกับการใช้โพรไบโอติกส์ในการรักษาอาการท้องร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อแต่ยังมีหลักฐานจำนวนน้อยเกี่ยวกับการใช้โพรไบโอติกส์เพื่อรักษาอาการท้องร่วงในโรคลำไส้แปรปรวน และแม้ว่า B. coagulans และ S. boulardii รวมถึงยาเตรียมบางชนิดที่ประกอบด้วยโพรไบโอติกส์หลายสายพันธุ์ อาจส่งผลในทางบวก แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
อาการท้องผูก
โรคลำไส้แปรปรวนประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดคือโรคลำไส้แปรปรวนที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการหลักซึ่งส่งผลกระทบต่อเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้
การศึกษาเกี่ยวกับโรคลำไส้แปรปรวนที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการหลักได้พยายามศึกษาว่าโพรไบโอติกส์สามารถเพิ่มความถี่ของการขับถ่ายอุจจาระและบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่
การศึกษาชิ้นหนึ่งได้ให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยโพรไบโอติกส์หลายสายพันธุ์หนึ่งในสองผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์หนึ่งประกอบด้วย L. acidophilus และ L. reuteri และอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งประกอบด้วย L. plantarum, L. rhamnosus และ L. lactis
และพบว่าการบำบัดด้วยผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์เหล่านี้สามารถเพิ่มความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระและช่วยปรับปรุงลักษณะของอุจจาระ
ในการศึกษาหนึ่งซึ่งทำการศึกษาเด็กที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน พบว่า การบำบัดด้วยโพรไบโอติกส์ B. lactis และอินนูลินซึ่งเป็นพรีไบโอติก สามารถลดอาการท้องผูก อาการท้องอืด และความรู้สึกอิ่ม อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าอินนูลินอาจทำให้ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนบางรายมีอาการแย่ลง
นอกจากนี้ยังพบว่า S. cerevisiae ช่วยลดอาการปวดและอาการท้องอืดในโรคลำไส้แปรปรวนประเภทที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการหลัก อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลที่ได้นี้
เช่นเดียวกับอาการอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่กล่าวถึง แม้ว่าผลลัพธ์เหล่านี้บางส่วนจะมีแนวโน้มดี แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีการศึกษาวิจัยจำนวนน้อย และยังมีการศึกษาวิจัยไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่าโพรไบโอติกส์มีประโยชน์ อย่างแท้จริงต่อผู้ที่มีอาการท้องผูกในโรคลำไส้แปรปรวน
สรุป
โรคลำไส้แปรปรวนที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการหลักเป็นโรคลำไส้แปรปรวนประเภทที่พบบ่อยที่สุด ของโรคนี้ B. lactis, S. cerevisiae และโพรไบโอติกส์หลายสายพันธุ์มีผลในทางบวกต่ออาการท้องผูก อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นนี้
คุณควรรับประทานโพรไบโอติกส์หรือไม่หากคุณเป็นโรคลำไส้แปรปรวน?
แม้จะผลการศึกษาวิจัยจะมีแนวโน้มที่ดี แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะให้คำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับ การใช้โพรไบโอติกส์ในการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
และแม้ว่าบางสายพันธุ์จะมีประโยชน์ต่ออาการของโรคหนึ่งหรือสองอาการ
อย่างไรก็ตาม โพรไบโอติกส์นั้นปลอดภัยและเป็นทางเลือกที่ราคาค่อนข้างถูกสำหรับการรักษาโรคลำไส้แปรปรวน นอกจากนี้โพรไบโอติกส์ยังใช้ได้ผลกับผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีหลายอาการ
หากคุณสนใจที่จะลองใช้โพรไบโอติกส์ มีตัวเลือกดี ๆ ให้คุณเลือกมากมาย
เคล็ดลับสำคัญในการเลือกผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์มีดังนี้
- เลือกโพรไบโอติกส์ที่มีหลักฐานสนับสนุน: เลือกโพรไบโอติกส์ที่มีงานวิจัยรองรับ
- เลือกโพรไบโอติกส์ตามอาการของคุณ: เลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับปัญหาของคุณ
- รับประทานในปริมาณที่เหมาะสม: ใช้ในปริมาณที่ผู้ผลิตแนะนำ
- ใช้โพรไบโอติกส์เพียงประเภทเดียว: ลองใช้โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์และติดตามอาการของคุณ
โปรดทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติกส์บางชนิดอาจมีส่วนผสมที่อาจทำให้อาการของคุณแย่ลง ซึ่งได้แก่ ข้าวโอ๊ต อินนูลิน แลคโตส ฟรุกโตส ซอร์บิทอล และไซลิทอล หากอาการของคุณเกิดจากสิ่งเหล่านี้ ให้มองหาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ที่ไม่มีส่วนผสมเหล่านี้
เมื่อคุณให้เวลาและใส่ใจกับการเลือกโพรไบโอติกส์ที่เหมาะกับความต้องการของคุณมากที่สุด คุณอาจพบว่าโพรไบโอติกส์เป็นวิธีการรักษาเสริมมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคลำไส้แปรปรวนของคุณ
แม้ว่าอาการของคุณจะไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่โพรไบโอติกส์ก็มีประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพ และเป็นส่วนประกอบที่มีคุณค่าของวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ
Bottom of Form
เขียนโดย เอลิเซ่ มันเดิล ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต
แหล่งที่มา https://www.healthline.com/nutrition/probiotics-for-ibs#TOC_TITLE_HDR_6